ชื่อร้านค้า Aom Donjedee อ้อมดอนเจดีย์ , คุ้มริมชะเมา

เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดหนองโพธิ์ เนื้อทองฝาบาตร จ.นครนายก

เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดหนองโพธิ์ จ.นครนายก 

เหรียญพระครูนนทธรรมคุณ ( นนท์ นันโท ) หรือนิยมเรียกกันสั้นๆว่า เหรียญหลวงพ่อนนท์ วัดหนองโพธิ์ นับว่าเป็นเหรียญพระคณาจารย์ชื่อดัง ยอดนิยมเหรียญหนึ่งของจังหวัดนครนายก ซึ่งสร้างเเละปลุกเสกเดี่ยวโดยหลวงพ่อนนท์ นันโท ในราวปีพ.ศ.2480 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเริ่มอุบัติขึ้นในปี 2484 เหรียญหลวงพ่อนนท์ รุ่นแรก จึงมีอายุสร้างมาเกือบ 80 ปีแล้ว เหรียญรุ่นแรกนี้เป็นเหรียญสีเหลี่ยมใหญ่มีขนาดเกือบเท่าพระสมเด็จ ในสมัยนั้นท่านเเจกเฉพาะผู้ชาย ต่อมาในปีเดียวกันหลวงพ่อนนท์จึงสร้างและปลุกเสกเหรียญแม่ครัว เพื่อแจกแม่ครัวที่มาช่วยงานวัดหนองโพธิ์ เหรียญนี้มีขนาดกะทัดรัด จึงเป็นที่นิยมของสุภาพสตรีมาก ลักษณะเหรียญหลวงพ่อนนท์ รุ่นแรก ( แจกผู้ชาย )เป็นเหรียญรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหูในตัว ห่วงเชื่อม ขนาดเหรียญ กว้าง 2.5 ซม. สูง 3.5 ซม.หนา 1 มิลลิเมตรเศษ มีทั้งเนื้อทองแดง เนื้อทองแดงกะไหล่ทองและเนื้อทองฝาบาตร ด้านหน้าเหรียญ เป็นพระปฎิมาประทับนั่ง ปางสมาธิ นั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันวางบนพระเพลาซ้ายกุมพระหัตถ์ขวาไว้มิด บางท่านกล่าวว่า ด้านหน้าเหรียญคือพระพุทธแก้ว มีพุทธลักษณะ ดังนี้ พระพักตร์ใหญ่อูมดังผลมะตูม พระกรรณยาวเรียวอ่อนช้อย ปลายโค้ง งอนแนบพระพักตร์ บนพระเศียรทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎสามชั้นซ้อน ชูยอดอุณาโลม ปลายสูงเกือบจรดขอบเหรียญด้านบน บนพระพักตร์ปรากฎแต่เพียงตัวอักขระขอมเขียนกำกับไว้แทนพระเนตร พระนาสิกและพระโอษฐ์ ตามลำดับ พระวรกายล่ำสัน พระอังสะซ้ายพาดสังฆาฏิ ห้อยชายถึงพระอุทร อนึ่งเหนือพระอังสกุฎข้างซ้ายมีตัวอักษร " ฤ " ส่วนข้างขวาเป็นตัวอักษร " ฤ " กลับข้างกันและตรงปลายเป็นเส้นตรงพุ่งขึ้นเบื้องบนจรดตัวอักขระขอมที่อ่านว่า โม ซึ่งใช้เป็นตำหนิสำคัญระบุเหรียญแท้ได้จุดหนึ่ง อนึ่งมีตัวอักขระขอม อ่านว่า นะ โม พุท ธา ยะ ( หัวใจพระเจ้าห้าพระองค์ ) ปรากฎที่พระพักตร์ พระอุระ และ พระเพลาทั้งสองกับรอบๆองค์พระปฎิมาลักษณะเป็นกรอบรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเเละมียันต์ภควัม รูปน้ำเต้าสามชั้น ประจำมุมทั้งสี่ทิศ โปรดสังเกตขอบเหรียญด้านหน้ามีเส้นนูนยกขึ้นมาโดยรอบ แล้วขมวดบรรจบกันที่ด้านบนสุดของเหรียญเป็นลักษณะปีกกา ส่วนด้านหลังเหรียญเรียบตรงกึ่งกลางมีพระปฎิมานั่งปางสมาธิ คล้ายกับที่ปรากฎอยู่ด้านหน้าเหรียญแต่สวมพระมาลาสามชั้น มีตัวอักขระขอมสี่ตัว จะ ภะ กะ สะ ( หัวใจพระกรณีย์ )ตั้งเรียงตามเเนวดิ่ง ปรากฎอยู่ชัดเจนบนพระพักตร์ พระอุระ และพระเพลาตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีอักขระขอม นะ โม พุท ธา ยะ ล้อมเป็นกรอบสี่เหลี่ยมอยู่รอบพระปฎิมาอีกด้วย ซึ่งผู้เฒ่าผู้เเก่บางท่านเรียกขานนามว่า " พุทธยักษ์ " หรือ ยักษ์เทวดา กล่าวกันว่าหลวงพ่อนนท์ร่ำเรียนวิชาไสยศาสตร์แขนงนี้มาจากอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ชาวเขมร เมืองสุรินทร์ ยักษ์เทวดานี้จักคอยติดสอยห้อยตามดังผู้พิทักษ์คุ้มครองรักษาร่างกายเรา เมื่อยามคับขันจึงสำแดงตนช่วยปกป้องภัยได้
ลักษณะเหรียญของหลวงพ่อนนท์ จะมีรูปเเบบเเปลกตา ไม่เหมือนใคร หลายๆคนถามผมว่าภายในเหรียญเป็นรูปอะไร ตามประวัติที่สืบทอดเล่าต่อกันมา ในเหรียญบางคนว่าเป็นรูปพระพุทธ เเต่ที่จริงเเล้วคนเฒ่าคนเเก่ในพื้นที่บอกว่าเป็นรูปพุทธยักษ์(ยักษ์เทวดา)ครับ หลวงพ่อนนท์ ท่านประเกจิอาจารย์ ที่โด่งดังมากในพื้นที่ เก่งทางด้านยาสมุนไพร ในสมัยก่อนเมืองนครนายก จะเด่นในเรื่องของยาสั่งตาย คนต่างถึงไม่ค่อยอยากมานครนายกสักเท่าไหร่ เพราะเป็นถิ่นยาสั่ง ยาสั่งนี้ถ้าใครโดนจะต้องตายสถานเดียวครับ เเต่มีพระเกจิอยู่ท่านเดียวเท่านั้นที่รักษาผู้ที่โดนยาสั่งได้ นั่นก็คือหลวงพ่อนนท์ ท่านนี้นี่เองครับ ท่านมอบชีวิตใหม่คนมาหลายคนเเล้วครับ พระเนื้อผงของท่านสุดยอดครับ ป้องกันยาสั่งได้ ถ้าห้อยพระเนื้อผงของท่านไป บ้านที่มียาสั่ง ข้าวเเละกับข้าวที่ใส่ยาสั่งไว้จะเปลี่ยนเป็นสีม่วงทันที หลวงพ่อนนท์ พื้นเพท่านเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ติดชายเเดนเขมร ท่านจึงได้ร่ำเรียนวิชาอาคมสายเขมร กับอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ชาวเขมรมาจนหมดเปลือก เมื่ออดีตเหรียญรุ่นเเรก ของท่านมีประสบการณ์ให้เห็นกันจะๆมาเเล้วกลางตลาดสดนครนายก คราวที่ตำรวจพลาดท่าถูกเเย่งปืน โจรจ่อยิงที่หัว เสียงดังสนั่นเเต่กระสุนกลับหยุดอยู่ที่ปากกระปอกปืน เป็นที่หน้าอัฒจรรย์ ยิ่งนักกับทุกสายตาที่พบเห็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น จนตำรวจรวบตัวจับไว้ได้เเละรอดตายมาได้ครับ จนดังได้ทั่วนครนายกเป็นเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เเละเหรียญของท่านทุกรุ่นก็มีประสบการณ์มากมายมาตลอด จนคนนครนายกจัดเหรียญของท่านเป็นเหรียญยอดนิยมของ จ.นครนายก
เหรียญนี้เป็นเหรียญพิมพ์ใหญ่รุ่นเเรก จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2480 ปัจจุบันหายากมากๆครับ พบเห็นได้น้อย ยิ่งสภาพสวยๆเป็นสุดยอดของความหายากประสบการณ์มากมายจนโด่งดังไปทั่งจังหวัดนครนายกเเละจังหวัดใกล้เคียง ใครมีต่างก็หวงเเหน อยากมีครอบครองเป็นเจ้าของ อนาคตต้องเเพง มากๆเเน่นอนครับ เหรียญนี้สภาพสวยเเชมป์ๆหายากมากๆ เส้นเสียนต่างๆที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ก็ได้เห็นในเหรียญนี้ครับ เหรียญนี้ขอโชว์เป็นวิทยาทานครับ
พุทธคุณ : คงเนื้อคงหนัง เเคล้วคลาดภยันตรายทั้งปวง มหาอุดหยุดลูกปืน ภูผีปีศาจ ศัตรูไม่กล้ากล้ำกลาย เสริมสิริมงคลแก่ตนเอง เมตตามหานิยม ป้องกันขจัดภัย ตลอดจนคุณไสย์เเละสิ่งไม่ดีต่างๆไม่ให้มาถึตัว ป้องกันฟ้าผ่า
ประวัติย่อ : หลวงพ่อนนท์ นันโท วัดหนองโพธิ์ จ.นครนายก
หลวงพ่อนนท์ ท่านเกิดที่บ้านกระออม ต.กระออม อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์ เมื่อปี ฉลู พ.ศ.2420 ในสมัยรัชการที่ 5 ต่อมาได้ย้ายตามผู้ปกครองมาอยู่ที่บ้านแท่นศิลา ต.นานวน อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ จนเติบโต เมื่อมีอายุครบบวช ก็ได้อุปสมบทที่วัดสะเม็ด อ.ศรีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ภายหลังบวชได้หนึ่งพรรษาก็ได้เดินทางพร้อมกับพระธุดงค์ 5 รูป(หนึ่งในนั้นคือ พระอาจารย์ทิว แห่งวัดละมุด ) ออกจากจังหวัดสุรินทร์ เดินทางมาอำเภออรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรี(ปัจจุบันเป็นจ.สระแก้ว )และได้มาจำพรรษาพักอยู่ที่วัดศรีเมือง อ.เมือง จ.นครนายก เป็นเวลานานหนึ่งปีเต็ม หลังจากนั้นได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯและจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นเวลานาน 8 ปีเศษ ได้เล่าเรียนบาลีและศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบได้เปรียญธรรม แล้วจึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดศรีเมือง อ.เมือง จ.นครนายก อีกครั้งหนึ่ง ท่านพระครูอรรถวาที(เลื่อง)อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเมือง ได้เล็งเห็นความรู้ความสามารถของหลวงพ่อนนท์ จึงได้นิมนต์ให้มาช่วยหลวงพ่อไปล่ เจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ ต.ศรีนาวา อ.เมือง จ.นครนายก เมื่อประมาณปี 2465 และต่อมาก็ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์แต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตร มีราชทินนาม" พระครูนนทธรรมคุณ " ซึ่งท่านได้พัฒนาวัดจนเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ ในปี 2470 นานต่อมาอีก 5 ปี ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดเกาะหวาย ในปี 2475 ครั้งถึงปี 2485 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดศรีนาวา(พระครูเจ้าคณะตำบล) และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาท่านได้สร้างอุโบสถกับโรงเรียนวัดหนองโพธิ์ และเสนาสนะอีกมากมาย ในบั้นปลายชีวิตของท่านพระครูนนทธรรมคุณ ได้อาพาธและมรณภาพ เมื่อวันที่ 28 กันยายน ปี 2507 สิริรวมอายุได้ 87 ปี พรรษา 66 ท่ามกลางความเศร้าโศกอาลัยของบรรดาศิษยานุศิษย์และร่วมกันจัดงานฌาปนกิจศพหลวงพ่อนนท์ ในปี 2510 (ขอขอบคุณสายตรงหลวงพ่อนนท์)
โดย phermsak - เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2564
  ชอบ 0  /  เข้าชม 599  /  ความคิดเห็น 0
ดูข้อมูลต่อ

 แสดงความคิดเห็น


(รองรับไฟล์รูปภาพนามสกุล .jpg, .png, .gif)